จุดประสงค์สาขาวิชาการตลาด

           วิทยาลัยมุ่งสร้างนักเรียน-นักศึกษา ทางการตลาดที่มีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและจริยธรรมเพื่อประกอบวิชาชีพทางการตลาดตามความต้องการของสังคมอันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยมีจุดประสงค์ ดังนี้

          1.  เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะการคิดและการแก้ปัญหา ทักษะทางสงคมและการดำรงชีวิตในการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ
          2.  เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถประยุกตใช้หลักการบริหารและจัดการวิชาชีพ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและหลักการงานอาชีพที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาชีพการตลาดให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี
         3.  เพื่อให้มีความเข้าใจในหลักการและกระบวนการทำงานในกลุ่มงานพื้นฐานด้านการตลาด
         4.  เพื่อให้สามารถในงานบริการทางการขายตามหลักการและกระบวนการในลักษณะครบวงจรเชิงธุรกิจโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในงานอาชีพการตลาด
         5.  เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านการตลาดในสถานประกอบการและประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งการใช้ความรู้และทักษะเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับสูงได้
         6.  เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานและดำรงชีวิตโดยประยุกตใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการ ใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงความปลอดภัยต่อตนเอง ผู้อื่นและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
         7.  เพื่อให้มีเจตคติที่ดีต่องานอาชีพมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ซื่อสัตย์สุจริตมีระเบียบวินัยมีความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ต่อต้านความรุนแรงและสารเสพติด

จบการตลาด สามารถทำงานอะไรได้บ้างคะ

          เชื่อว่านักเรียน-นักศึกษาหลายคนยังมีคำถามค้างคาใจว่า “เรียนการตลาดมา ถ้าจบไปแล้ว ต้องทำงานอะไรบ้างนะ?” ดังนั้น เพื่อให้เราเลือกทางเดินได้เหมาะสมที่สุด มารู้จักกับ 10 อาชีพ เพื่อเด็กการตลาดโดยเฉพาะกันเลยดีกว่า

1. นักวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด (Strategic Marketing Planner)
        ธุรกิจสมัยใหม่มักจะเน้นการสร้างผลกำไรที่สูงสุดแต่อยู่บนความพึงพอใจของผู้บริโภคซึ่งเป็นการทำธุรกิจแบบระยะยาว (Long-Term Business) พร้อมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคในสมัยนี้ นักวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดจึงสำคัญ และคนที่เก่งด้านการวางแผนก็มีโอกาสเติบโตสูงมาก

2. นักวิจัยตลาด หรือ นักวิเคราะห์การตลาด (Market Researcher or Marketing Analyst)
         เป็นผู้ดูแลข้อมูลและเก็บรวบรวมข้อมูลทางการตลาดทั้งหมด มีทั้งแบบ Online และ Offline เพื่อนำมาวิเคราะห์ ตีความ และรายงานข้อมูลที่ได้ เพื่อนำไปวางแผนการตลาดต่อไป

3. นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer)
         เป็นผู้ที่ดูแลการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลทั้งหมดบนระบบ Internet ไม่ว่าจะเป็น Website, Social Media หรือ Application ก็ตาม เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นต้องอัพเดทข้อมูลอยู่ตลอดเวลาเพื่อความได้เปรียบต่อคู่แข่งทางการตลาด ดังนั้นคนที่เก่งเรื่องการใช้ Internet รู้เรื่อง SEO สามารถวิเคราะห์ Insight Facebook ได้ แค่นี้ก็สามารถมีเงินเดือนที่สูงตั้งแต่ต้นได้เลย

4. นักการตลาดระหว่างประเทศ (International Marketer)
       นักการตลาดบางคนเก่งภาษาเป็นพิเศษ จึงสามารถวิเคราะห์ข้อมูลของต่างประเทศ เพื่อวางแผนกระบวนต่างๆ รวมถึงจัดแนวความคิด ตั้งราคา จัดช่องทางการจัดจำหน่าย และส่งเสริมทางการตลาด เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถตอบสนองความต้องการของบุคคลหรือองค์กรที่อยู่ต่างประเทศได้ ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือนกันเลยทีเดียว

5. นักประชาสัมพันธ์ (Public Relations)
       คนที่ใช้การตลาดเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่วัตถุประสงค์ บทบาทหน้าที่ และเป้าหมายขององค์กร ไปยังกลุ่มเป้าหมาย พูดเก่งคุยรู้เรื่อง สื่อสารได้ครบถ้วนและเข้าใจ ทำให้แบรนด์เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในสังคม และคอยดูแลภาพลักษณ์นั้นอย่างยั่งยืน

6. ที่ปรึกษาด้านการตลาด (Marketing Consultant)
        เหมาะสำหรับคนที่มีประสบการณ์ทางด้านการตลาดมากเป็นพิเศษ และต้องรู้ลึกรู้จริงในการตลาดแขนงนั้นๆ สามารถประเมินสถานการณ์ทางการตลาดของธุรกิจ วางแผนกลยุทธ์ และให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาทิศทางการตลาดเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จสูงสุดได้

7. นักสื่อสารเนื้อหาทางการตลาด (Content Marketing)
        เป็นคนที่คิดและสร้างเนื้อหาต่างๆ เพื่อสื่อสารเนื้อหาต่างๆ ในกลุ่มเป้าหมาย เป็นการสร้างการรับรู้ สร้างประสบการณ์ร่วม สร้างความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และสร้างการยอมรับระหว่างแบรนด์กับผู้ติดตาม รวมถึงต้องสามารถวางแผนและวิเคราะห์ Target ที่จะรับสารของเราได้ด้วย

8. นักจัดกิจกรรมทางการตลาด (Event Marketing)
       จัดกิจกรรมทางการตลาดทั้งแบบ Online และ Offline อย่างสม่ำเสมอ และประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการออกไป เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือการกระตุ้นยอดขายให้ได้ในอนาคต รวมถึงสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องด้วย

9. นักโฆษณา (Advertisers)
        เป็นคนที่จะคอยให้ข้อมูล ข่าวสาร เพื่อสื่อสารให้จูงใจและโน้มน้าวผ่านสื่อโฆษณาประเภทต่างๆ เป็นการกระตุ้นยอดขายและสร้างการรับรู้ด้วยเช่นกัน แต่จะเน้นไปที่การโฆษณาโดยตรง

10. นักวิชาการด้านการตลาด (Academic Marketer)
       ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถทางวิชาการ หลักการ ทฤษฎีการตลาด และสามารถนำเสนอ Case Study ทางการตลาดได้อย่างน่าสนใจ สามารถสอนหรือแนะนำให้ผู้อื่นให้เข้าใจและนำไปปรับใช้ได้จริง

ครูผู้สอนประจำสาขาวิชาการตลาด

นางสาวสร้อยสุดา  แก้วบุญน้อย
หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด

นางสาววลักษุดา  กองแก้ม
ครูผู้สอน

ภาพกิจกรรมสาขาการตลาด